ภาพถ่ายในโอกาสที่หลวงพ่อกลั่นได้รับนิมนต์ไปในงานสำคัญงานหนึ่ง ณ วัดสะแก นับจากซ้ายไปทางขวา ปรากฏรายชื่อพระจากคำบอกเล่าของคนรุ่นเก่าดังนี้
แถวหน้า (นั่ง)
1. พระอาจารย์เปล่ง (พระคู่สวด)
2. พระครูญาณอุทัย (หาญ) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าคณะแขวง (อำเภอ) อุทัย สืบต่อจากพระครูญาณอุทัย (หร่าย) ที่มรณภาพ (เดิมอยู่วัดพระเชตุพนฯ ได้รับนิมนต์ให้มาอยู่วัดสะแกเพื่อทำหน้าที่ เลขานุการเจ้าคณะแขวง เนื่องจากหนังสือดี ต่อมาถูกส่งไปเป็นเจ้าอาวาสวัดเขาดิน กระทั่งหลวงพ่อหร่ายมรณภาพจึงกลับมาอยู่วัดสะแก แต่เป็นแค่เจ้าคณะแขวงไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส)
3. พระอุปัชฌาย์กลั่น ธมฺมโชติ วัดพระญาติการาม ซึ่งขณะนั้นอายุประมาณ 80 ปีขึ้นไป หรืออาจจะถ่ายก่อนมรณภาพ (เมื่ออายุ 88) ไม่นานนัก (สังเกตจากพัดรองด้านหลังซึ่งระบุว่าทำเมื่อ พ.ศ.2467 ซึ่งปีดังกล่าวนี้ท่านมีอายุถึง 78 แล้ว)
4. พระอธิการแด่ (พระคู่สวด) ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสะแก (แต่พระครูญาณอุทัย (หาญ) เป็นเจ้าคณะแขวง)
5. พระโบราณคณิสสร (ใหญ่ ติณฺณสุวณฺโณ) (ลูกพี่ลูกน้องกับหลวงพ่ออั้น) ขณะนั้นยังเป็นพระอันดับหรือลูกวัด (ภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาส สืบต่อจากพระครูอุทัยวุฒิกร (รอด) ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูอุทัยคณะรักษ์และ พระโบราณคณิสสร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดฯ ตามลำดับ)

แถวหลัง (ยืน)
1. พระอาจารย์นุ (พระนักเทศน์มหาชาติ)
2. พระสีห์ พินฺทสุวณฺโณ ซึ่งภายหลังได้รับแต่งตั้งเป็นฐานาฯ ที่ปลัดของพระครูอุทัยคณารักษ์ (ใหญ่) ท่านผู้นี้มีความสนิทสนมกับอาจารย์เฮง ไพรยวัล ทั้งยังร่วมกันทำวัตถุมงคลบ่อยครั้ง
3. พระปลัดรอด (ไม่ทราบฉายา) ฐานานุกรมของพระครูญาณอุทัย (หาญ) ภายหลังได้เป็นเจ้าอาวาส สืบต่อจากหลวงพ่อแด่ และเป็นเจ้าคณะแขวงสืบต่อจากเจ้าของฐานาฯ ต่อมาได้เป็นที่พระครูอุทัยวุฒิกร
4. พระอาจารย์ปั่น
อนึ่ง น่าสนใจว่าในภาพนี้มีพระที่หลวงพ่อกลั่นบวชให้ถึง 3 องค์ด้วยกัน ส่วนหลวงตาหลาบกับหลวงปู่ดู่ ไม่ได้มาถ่ายภาพด้วย สำหรับหลวงตาหลาบ ภายหลังได้เป็นพระใบฎีกาฐานาฯ ของพระครูอุทัยคณารักษ์ (ใหญ่) และได้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อจากเจ้าของฐานาฯ ต่อมาได้เป็นที่พระครูถาวรสีลาจารย์