การเดินทัพเพื่อหลบหนีกองทัพพม่าจากกรุงศรีอยุธยาสู่ชายเขตแดนเมืองนครนายก พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ เช่น ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับบริติช มิวเซียม
เป็นต้น บรรยายสรุปความว่า เกิดเพลิงไหม้ในพระนคร ลามไปยังวัดต่างๆ กุฎิ วิหารต่างๆ รวมทั้งบ้านเรือนราษฎรกว่าหมื่นหลังคาเรือน และไฟไหม้ยังไม่ทันดับ ช่วงนี้ที่พระยาตากนำไพร่พลจำนวนไม่มากนัก
แต่เอกสารในพระราชพงศาวดารสมัยหลังว่าพลไทยจีนกว่า ๕๐๐ นาย ที่ตั้งค่ายสู้รบอยู่นอกกำแพงพระนครหรือนอกเกาะเมืองทาง “ค่ายวัดพิชัย” ซึ่งปัจจุบันชื่อว่าวัดพิชัยสงคราม ริมแม่น้ำป่าสักทางด้านทิศตะวันออกของเมือง นำกองกำลังที่มีผู้คนมีปรากฏชื่อเป็นขุนนางร่วมรบและขุนนางในสมัยกรุงธนบุรีต่อมา เช่น พระเชียงเงิน, หลวงพรหมเสนา, หลวงพิชัยอาสา, หลวงราชสเน่หา, ขุนอภัยภักดี ตีฝ่าทัพพม่าออกมาด้วยกัน
การเดินทางเพื่อหนีทัพพม่าครั้งแรกนั้น พระยาตากคงเพียงตั้งใจตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าเพื่อหนีเอาตัวรอดจากพระนครไปก่อนเท่านั้น ทิศทางที่นำพลพรรคออกมาคือ มุ่งไปทางตะวันออกของพระนครศรีอยุธยา และทางหัวเมืองทางฝั่งตะวันออก
กองกำลังของพระยาตากออกเดินทางจากค่ายวัดพิชัยมาจนถึง บ้านหันตรา บ้านธนู ที่ห่างไปราว ๓ กิโลเมตร ทัพพม่ายกทัพเร่งมาทันจึงสู้รบกัน ชาวบ้านในบริเวณนี้มีตำนานเล่ากันถึง “ทุ่งชายเคือง” ซึ่งมี “คลองชนะ” ที่ต่อกับคลองข้าวเม่า ส่วนปลายคลองหายลงทุ่งชายเคือง ชาวบ้านกล่าวว่าเป็นสถานที่สู้รบกับกองกำลังพม่าและตีแตกไม่ได้จึงถอยทัพกลับไป และต่อมาเดินทางไปยัง บ้านสามบัณฑิต ซึ่งตั้งอยู่โดดเดี่ยวกลางทุ่งพระอุทัยในเวลาสองยามเศษ ในพระราชพงศาวดารบรรยายว่า เมื่อมองกลับไปเห็นแสงไฟไหม้กรุงอย่างชัดเจน แล้วจึงให้ทัพหยุดพักที่นี่
พระยาตากจึงเดินทางต่อไปยัง บ้านโพสังหารหรือบ้านโพสาวหาญ ที่อยู่ห่างจากกรุงศรีอยุธยาไปทางตะวันออกราว ๒๐ กิโลเมตร พม่าส่งกองทัพติดตามมาอีก จึงได้รบกันจนพม่าแตกพ่ายไป บริเวณบ้านโพสาวหาญ ชาวบ้านสร้างศาลเจ้าแม่โพสาวหาญ ทั้งสองคนไว้ด้วยศาลเจ้าแม่โพธิ์สาวหาญ ที่ตำบลโพสาวหาญชาวบ้านปั้นประดิษฐานไว้กราบไหว้ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมา
แล้วเดินทัพต่อไปจนถึง บ้านพรานนก จึงหยุดพักแรม แล้วให้ทหารออกไปลาดตระเวณพบว่า ทัพพม่ายกมาจากทางบางคาง หรือเมืองปราจีนเก่า บริเวณนี้พบว่ามีร่องรอยของซากศาสนสถานกลางทุ่งและสถานที่ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นทุ่งโพสังหารหรือโพสาวหาญ ซึ่งทั้งเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่สามารถชี้จุดบริเวณที่เชื่อว่าเป็นสถานที่สู้รบกันได้ทุกคน ถือเป็นความทรงจำตกทอดสืบต่อกันมาอย่างชัดเจน
จากบริเวณบ้านพรานนกซึ่งอยู่ในกลุ่มบ้านโพสาวหาญ เป็นทุ่งกว้างอันเป็นรอยต่อระหว่างท้องทุ่งในเขตอำเภออุทัย ทัพพระยาตากเลียบเขาผ่านบ้านนาเริ่ง ซึ่งน่าจะเป็นพื้นที่บริเวณอำเภอบ้านนา แต่เดิมชื่ออำเภอท่าช้าง เพราะบริเวณนี้มีวัดโรงช้างหรือบ้านโรงช้างซึ่งเคยเป็นชุมชนโพนช้าง เพื่อจับช้างป่าตามแถบเทือกเขาดงพญาเย็น สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามพระราชพงศาวดารกล่าวว่า “ขุนชำนาญไพรสน” นายกองช้างที่นี่นำช้างมอบให้พระยาตาก ๖ ช้าง จากที่นี่จึงเดินทางไปตามเส้นทางที่มุ่งไปยังเมืองปราจีนบุรีเก่าที่อยู่ริมแม่น้ำปราจีนที่ “ด่านกบแจะ” ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำปราจีนบุรีฝั่งเหนือ